วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

หน้าที่สำคัญของธาตุอาหาร

           ธาตุไนโตรเจน
                พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก  ไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดอะมิโน ซึ่งประกอบขึ้นเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในพืช  ช่วยทำให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว พืชที่ได้รับธาตุไนโตรเจนอย่างเพียงพอจะมีใบสีเขียวสด แข็งแรง โตเร็ว ให้ดอกและผลที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะพวกผักที่รับประทานใบ ถ้าได้ธาตุไนโตรเจนมากจะทำให้อวบ กรอบ มีเส้นใยน้อยและมีน้ำหนักดี  ในกรณีที่ขาดธาตุไนโตรเจน พืชจะแคระแกรน ใบเหลืองผิดปกติและเหี่ยวเฉา ออกดอกและผลช้า  ในดินทั่วๆไปมักมีธาตุไนโตรเจนไม่เพียงพอจึงต้องใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนลงไป ซึ่งจะไปช่วยเร่งให้ต้นและใบเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  แต่ถ้าพืชได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปอาจจะเกิดผลเสีย เช่น ทำให้อวบน้ำมาก ลำต้นอ่อนล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนหรือทำลายง่าย เป็นต้น
                ธาตุฟอสฟอรัส
                เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบพวก nucleoprotein และ phospholipids ซึ่งมีอยู่ในเมล็ดพืชทุกชนิด สารประกอบทั้งสองนี้เป็นส่วนของโครงสร้างของโปรตีนและเซลล์พืช  นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ในเอนไซม์หลายชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม
                ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของฟอสเฟต เช่น H2PO4- และ HPO42- โดยละลายน้ำในดิน  พืชต้องการธาตุฟอสฟอรัสน้อยกว่าธาตุไนโตรเจน  แต่ในดินมักมีธาตุฟอสฟอรัสหรือฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ ไม่เพียงพอ  จึงต้องใส่ปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัส  ถ้าพืชได้รับธาตุฟอสฟอรัสเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรง แพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง ทำให้พืชสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกและผลจึงเกิดเร็ว ในกรณีที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสพืชจะแคระแกรน ใบมีสีเขียวคล้ำ รากจะชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ไม่ออกดอกและผล
                ธาตุโพแทสเซียม
                โพแทสเซียม เป็นธาตุที่จำเป็นในการสร้างแป้ง และช่วยให้ใบมีประสิทธิภาพในการดูดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีส่วนร่วมในการสร้างคลอโรฟิลล์  ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากและหัว  สร้างเนื้อไม้ที่แข็งของลำต้น  และทำให้ผลไม้มีรสหวานคุณภาพดี เส้นใยน้อย  แต่ถ้าพืชขาดธาตุนี้ เมล็ดจะลีบและมีน้ำหนักเบาผิดปกติ หากเป็นไม้ผลเนื้อไม้จะฟ่าม รสชาติกร่อย ลำต้นแคระแกรน
                พืชจะใช้ธาตุโพแทสเซียมได้เมื่ออยู่ในรูปของไอออน K+ เท่านั้น ถ้าอยู่ในรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้แตกตัวเป็น K+ ถึงแม้ว่าพืชจะได้รับเข้าไปก็ยังคงนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืชที่เจริญเติบโต และส่งไปเก็บไว้ที่ส่วนหัวหรือลำต้น  ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าวและมันจึงต้องการธาตุโพแทสเซียมมาก ถ้าขาดธาตุโพแทสเซียมหัวจะลีบ เหี่ยวง่าย แคระแกรน ใบเหลือง
                ธาตุแคลเซียม
                  ธาตุแคลเซียม ทำหน้าที่สลายและละลายอาหารพืชในดินและช่วยเร่งให้เมล็ดงอก  รากที่เริ่มเกิดเจริญเติบโตเร็ว เป็นการเพิ่มแคลเซียมให้รับพืชผลที่ใช้เป็นอาหาร  ถ้าพืชขาดธาตุนี้ยอดพืชจะหยุดชะงักการเจริญเติบโต และไม่โผล่พ้นจากลำต้น
                ธาตุแมกนีเซียม
               ธาตุแมกนีเซียม  เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายธาตุฟอสฟอรัสเข้าไปในเมล็ด  พบว่าธาตุแมกนีเซียมจะทำงานร่วมกับแคลเซียมในการหมุนเวียนธาตุอาหาร ขณะเดียวกันช่วยเร่งสร้างน้ำมันและไขมัน  ถ้าพืชขาดธาตุนี้ อาการที่เกิดจะเริ่มที่ใบแก่ก่อนส่วนอื่น คือ ใบจะสูญเสียคลอโรฟิลล์โดยมีลักษณะเป็นด่างระหว่างเส้นใบ และจะตายในที่สุด พืชยืนต้นเมื่ออยู่ระหว่างฤดูออกดอกออกผล ใบอาจแสดงอาการขาดธาตุแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมจะย้ายไปสร้างผลหมด  ใบจึงร่วงผิดปกติ
               
                ธาตุกำมะถัน
             ธาตุกำมะถันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโปรตีนและกรดอะมิโน ช่วยสร้างโปรตีนและน้ำมันพืช  ถ้าพืชขาดธาตุนี้จะมีอาการคล้ายๆ กับขาดธาตุไนโตรเจน
                ธาตุเหล็ก
              ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบอยู่ในเอนไซม์หลายชนิด ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการต่างๆ เช่น หายใจ สังเคราะห์ด้วยแสง มีบทบาทสำคัญในการสร้างคลอโรฟิลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ การสร้างคลอโรฟิลล์จะหยุดชะงัก ใบจะเหลือง  ใบที่ผลิออกจะเล็กผิดปกติ
                ธาตุแมงกานีส 
              ธาตุแมงกานีส  ช่วยเร่งปฏิกิริยาต่างๆ ในพืชให้เกิดเร็วขึ้นและง่ายขึ้น เช่น ในการแปรสภาพหมู่ไนเตรตและหมู่ไฮดรอกซิลามีนให้เป็นไนโตรเจนในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ เป็นธาตุที่ร่วมอยู่ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง สร้างโปรตีน และวิตามินซี  ถ้าพืชขาดธาตุนี้อาการจะเกิดขึ้นทางใบล่างก่อนคือ ใบชั้นล่างของลำต้นจะเหลืองตามบริเวณระหว่างเส้นใบ  เนื่องจากเป็นบริเวณที่ขาดคลอโรฟิลล์
                 ธาตุสังกะสี
                  ธาตุสังกะสี เชื่อว่ามีบทบาทในกระบวนการสร้างคลอโรฟิลล์ และควบคุมการสุกแก่ของผล ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ต้นจะเตี้ยแคระแกรน ปล้องของลำต้นและกิ่งก้านอ่อนจะสั้น
                 ธาตุโบรอน
                 ธาตุโบรอน ธาตุนี้จำเป็นสำหรับการแบ่งเซลล์ การก่อตัวของเซลล์ที่จะเป็นดอก ผล และราก ส่งเสริมกระบวนการเคลื่อนย้ายธาตุอาหาร และแร่ธาตุไปยังส่วนต่างๆ ของลำต้น  ถ้าพืชขาดธาตุนี้ บริเวณ cortex จะเกิดการสะสมสารพวกเรซินหรือที่เรียกว่า gummosis ซึ่งจะทำให้ท่อส่งน้ำและอาหารอุดตัน ทำให้การส่งน้ำและอาหารดำเนินไปไม่สะดวก และมีจุดสีน้ำตาลหรือดำอยู่ภายในส่วนต่างๆ ของพืชซึ่งสังเกตได้จากพืชพวกผักกาดหัว กะหล่ำดอก เป็นต้น
                ธาตุทองแดง
                 ธาตุทองแดง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ในเอนไซม์พืช ส่งเสริมการสร้างวิตามินเอ มีหน้าที่ทางอ้อมคือ มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างคลอโรฟิลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ใบจะเหลือง
                ธาตุโมลิบดีนัม
                 ธาตุโมลิบดีนัม มีบทบาทในกระบวนการรีดักชันของไนเตรตให้เป็นแอมโมเนียม และกระบวนการสร้างคลอโรฟิลล์และเอนไซม์พืช  ถ้าพืชขาดธาตุนี้ขอบใบม้วน บริเวณระหว่างเส้นใบจะมีสีเหลือง บางส่วนเขียว ปลายใบจะมีรอยไหม้ และตายไป
                ธาตุคลอรีน
              ธาตุคลอรีน เป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชชั้นสูง(higher plants) หน้าที่ยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามถ้าพืชพวกยาสูบได้ปุ๋ยที่มีคลอไรด์มาก จะเป็นอุปสรรค์ในกระบวนการสร้างแป้ง มีการสะสมแป้งในใบมาก ทำให้ใบหนาเปราะแทนที่จะเป็นใบบาง เหนียว และยืดหยุ่นได้  เมื่อบ่มสีจะไม่เหลือง การติดไฟจะเลวลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น